หลักเกณฑ์การอนุมัติโครงการ BOI

หมวดหมู่: บริการ

หลักเกณฑ์การอนุมัติโครงการ

      โครงการที่จะได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

  1. เป็นกิจการที่กำหนดไว้ในบัญชีประเภทกิจการที่ให้การส่งเสริมการลงทุน ตามประกาศคณะกรรมการที่ 2/2557 ประกอบด้วย

     

    หมวด 1 เกษตรกรรมและผลิตผลจากการเกษตร
    หมวด 2 เหมืองแร่ เซรามิกส์ และโลหะขั้นมูลฐาน
    หมวด 3 อุตสาหกรรมเบา
    หมวด 4 ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง
    หมวด 5 อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า
    หมวด 6 เคมีภัณฑ์ กระดาษ และพลาสติก
    หมวด 7 กิจการบริการและสาธารณูปโภค
    หมวด 8 การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม

     

          กรณีที่โครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริม เป็นกิจการที่ไม่มีกำหนดไว้ในบัญชีประเภทกิจการที่ให้การส่งเสริมการลงทุน อาจเป็นกิจการที่ BOI ประกาศระงับให้การส่งเสริมไปแล้ว หรือเป็นกิจการประเภทใหม่ที่ยังไม่เคยมีผู้ขอรับการส่งเสริมมาก่อนก็ได้

          กรณีที่เป็นกิจการประเภทใหม่ที่ยังไม่เคยมีผู้ยื่นขอรับการส่งเสริม คณะกรรมการจะพิจารณาความเหมาะสมในการเปิดประเภทการให้การส่งเสริมการลงทุนขึ้นใหม่เป็นกรณีๆ ไป

  2. มีขนาดการลงทุนขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท ยกเว้นกิจการ SMEs ซึ่งกำหนดขนาดการลงทุนขั้นต่ำไว้ 5 แสนบาท
          กรณีเป็นกิจการบริการที่ใช้ฐานความรู้เป็นปัจจัยหลักในการดำเนินการธุรกิจ จะต้องมีเงินลงทุนขั้นต่ำจากเงินเดือนของบุคลากรต่อปีไม่น้อยกว่าที่กำหนด

          ทั้งนี้ ขนาดการลงทุนขั้นต่ำ หมายความรวมถึงค่าใช้จ่ายดังนี้

      โครงการริเริ่ม โครงการขยาย
    ค่าก่อสร้าง O O
    ค่าเครื่องจักร ค่าติดตั้ง ค่า Test-run O O
    ค่าทรัพย์สินอื่นๆ O X
    ค่าใช้จ่ายก่อนเปิดดำเนินการ O X
    ค่าที่ดิน X X
    ค่าวิชาการ X X
    เงินทุนหมุนเวียน X X
  3. มีมูลค่าเพิ่มไม่น้อยกว่า 20% ของรายได้
    ยกเว้นกิจการเกษตรกรรมและผลิตผลจากการเกษตร กิจการอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน และกิจการตัดโลหะ ต้องมีมูลค่าเพิ่มไม่น้อยกว่า 10% ของรายได้

          ทั้งนี้ มูลค่าเพิ่มมีแนวทางในการคำนวณดังนี้

    มูลค่าเพิ่ม = รายได้ - ค่าวัตถุดิบ - ค่าบริการที่มาจากแหล่งอื่น x 100%
    รายได้
  4. มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนจดทะเบียนไม่เกิน 3 : 1 สำหรับโครงการริเริ่ม
    สำหรับโครงการขยาย จะพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป ดังนี้
    1. กรณีมีกำไรสะสม
      • คำนวณอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนผู้ถือหุ้น (รวมโครงการขยาย) ไม่เกิน 3:1 หรืออาจเกิน 3:1 ก็ได้ ตามความเหมาะสม
      • ดังนั้น โครงการขยายจึงอาจจะไม่ต้องเพิ่มทุนจดทะเบียนก็ได้
    2. กรณีขาดทุนสะสม
      • คำนวณอัตราส่วนหนี้สินของโครงการขยาย ต่อทุนจดทะเบียนที่เรียกชำระเพิ่มขึ้น ให้ไม่เกิน 3:1
  5. มีกรรมวิธีการผลิตที่ทันสมัย และใช้เครื่องจักรใหม่
    กรณีที่ใช้เครื่องจักรเก่า มีแนวทางพิจารณาดังนี้
    • ต้องไม่ใช่เครื่องจักรเก่าในประเทศ หรือเครื่องจักรเก่าที่เคยใช้ในประเทศมาก่อน
    • ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ
    • ต้องมีใบรับรองประสิทธิภาพจากสถาบันที่เชื่อถือได้
    • กรณีทั่วไป
      • ต้องเป็นเครื่องจักรเก่าอายุไม่เกิน 10 ปี นับจากปีที่ผลิตถึงปีที่นำเข้า
      • กรณีอายุไม่เกิน 5 ปี ให้นับเป็นขนาดการลงทุนสำหรับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล แต่ไม่ให้ได้รับยกเว้นอากรขาเข้า
      • กรณีอายุ 5-10 ปี ไม่นับเป็นขนาดการลงทุนสำหรับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล และไม่ให้ได้รับยกเว้นอากรขาเข้า
    • กรณีย้ายฐานการผลิต
      • กรณีอายุไม่เกิน 5 ปี ให้นับเป็นขนาดการลงทุนสำหรับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล แต่ไม่ให้ได้รับยกเว้นอากรขาเข้า
      • กรณีอายุ 5-10 ปี ให้นับเป็นขนาดการลงทุนสำหรับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่เกิน 50% ของมูลค่าเครื่องจักรตามบัญชี แต่ไม่ให้ได้รับยกเว้นอากรขาเข้า
      • กรณีอายุเกิน 10 ปี ไม่นับเป็นขนาดการลงทุนสำหรับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล และไม่ให้ได้รับยกเว้นอากรขาเข้า

    เครื่องจักรเก่าที่ผ่อนผันให้มีอายุเกิน 10 ปี และไม่ต้องมีใบรับรองประสิทธิภาพ ได้แก่
    • เครื่องจักรที่นำเข้ามาใช้ชั่วคราวไม่เกิน 1 ปี
    • เครื่องจักรหรือยานพาหนะเก่า สำหรับกิจการประมงน้ำลึก กิจการขนส่งทางเรือ และกิจการขนส่งทางอากาศ
    • แม่พิมพ์ แม่แบบ หรืออุปกรณ์ที่ใช้งานในลักษณะเดียวกัน เช่น Mold, Dies, Jig, Fixture, Pattern เป็นต้น
  6. จะต้องมีผู้มีสัญชาติไทยถือหุ้นรวมกันไม่น้อยกว่า 51% ของทุนจดทะเบียนสำหรับกิจการดังนี้
    • กิจการตามบัญชี 1 ท้ายพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542
  7. ที่ตั้งโรงงาน
          ตั้งโรงงานได้ทุกเขตที่ตั้ง ยกเว้นกิจการต่อไปนี้ ต้องตั้งโรงงานในเขตอุตสาหกรรมหรือนิคมอุตสาหกรรม
    • 1.13 กิจการฟอกหนังสัตว์
    • 3.1.3 กิจการฟอกย้อมและแต่งสำเร็จหรือพิมพ์และแต่งสำเร็จ หรือพิมพ์
    • 7.17 กิจการนำวัสดุที่ไม่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่
  8. เงื่อนไข ISO
    • โครงการที่มีขนาดการลงทุนตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) จะต้องดำเนินการให้ได้ใบรับรองมาตรฐาน ISO 9000 หรือ 14000 ห หรือมาตรฐานสากลอื่นที่เทียบเท่า ภายใน 2 ปี นับจากวันเปิดดำเนินการ
    • กรณีปฏิบัติตามเงื่อนไข ISO ไม่ได้ จะถูกเพิกถอนสิทธิประโยชน์การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 1 ปี
  9. โครงการที่มีขนาดการลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) มากกว่า 80 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 750 ล้านบาท จะต้องรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการที่ขอรับการส่งเสริมาการลงทุน ดังนี้
    1. ความต้องการของผลิตภัณฑ์ที่จะขอรับการส่งเสริม
      • สถิติการนำเข้าในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา
      • ปริมาณความต้องการและอัตราการขยายตัวในอนาคต
      • ตลาดส่งออกที่สำคัญและแนวโน้มการขยายตัว
    2. ความเหมาะสมของโครงการด้านการเงิน
      • แหล่งที่มาของเงินทุน กล่าวคือ ใช้เงินจากผู้ถือหุ้น (Equity) หรือเงินกู้ (Debt) จากทั้งในประเทศและต่างประเทศมากน้อยเพียงใด
      • Cash Flow มูลค่าปัจจุบัน (Net Present Value) และผลตอบแทนจากการลงทุน (Internal Rate of Return - IRR) กรณีที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ .... ปี และกรณีที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้
  10. โครงการที่มีขนาดการลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) มากกว่า 750 ล้านบาท จะต้องเสนอรายงานศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการตามที่คณะกรรมการ เพื่อประกอบการพิจารณาอนุมัติให้การส่งเสริม

 

ที่มา: http://www.faq108.co.th/boi/application/criteria.php

23 มกราคม 2564

ผู้ชม 2521 ครั้ง


 
 
Engine by shopup.com